วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บรรยาย "การดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข"


เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้เชิญนายวนิชย์ ฤทธิ์เดช ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ มาบรรยายในหัวข้อเรื่อง การดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ห้องประชุมศูนย์ฯ โดยมีความประสงค์จะพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานให้มีความรู้ความสามารถในการครองตน เพื่อให้วัฒนธรรมขององค์กรมีบรรยากาศเหมาะสมกับการทำงานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมจริยธรรม ค่านิยม ให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตามจรรยาบรรณของข้าราชการให้แก่ข้าราชการและพนักงานราชการของศูนย์ฯ ในการให้บริการแก่ประชาชน เพื่อจะได้ปฏิบัติตนถูกต้องเหมาะสมอันจะนำมาซึ่งประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน และความเชื่อถือจากประชาชน

วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การผลิตหอมแดงให้ปลอดภัยจากสารพิษ


การผลิตหอมแดงให้ปลอดภัยจากสารพิษ

หอมแดง เป็นพืชผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทย ซึ่งหอมแดงมีพื้นที่การปลูกประมาณ 40,000 ไร่ ปลูกมากในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และศรีสะเกษ หอมแดงสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่จะปลูกได้ดีในฤดูหนาว ส่วนฤดูร้อนและฤดูฝนเป็นการผลิตนอกฤดู จะมีปัญหาการผลิตมากกว่าในฤดูหนาว อย่างไรก็ดี หอมแดงมีศัตรูพืชทั้งโรคพืชและแมลงรบกวนได้ทุกระยะของการเจริญเติบโต ดังนั้น การผลิตหอมแดงให้ปลอดภัย จึงเป็นประเด็นที่มีความจำเป็นต้องศึกษา เพื่อหลีกเลี่ยงพิษภัยจากการใช้สารพิษต่าง ๆ หรืองดใช้สารเคมีมาใช้ศัตรูธรรมชาติตลอดจนใช้วิธีการอื่นๆกำจัดศัตรูหอมแดงแทน

การผลิตหอมแดงให้ปลอดภัยจากสารพิษ ในที่นี้น่าจะหมายถึงสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช วิธีการที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยสามารถกระทำได้ 3 วิธีด้วยกันคือ

1.การงดใช้สารเคมีทุกชนิด (การผลิตพืชอินทรีย์)

2.การลดการใช้สารเคมีลง (การผลิตพืชผสมผสาน)

3.การใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง (การผลิตพืชปลอดภัย)

จะเห็นว่าการผลิตทั้ง 3 วิธีการมีระดับการใช้สารเคมีแตกต่างกันตั้งแต่ 0 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าต้องส่งผลต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและแมลง และการที่จะเลือกใช้วิธีการใด เพื่อให้ผลิตผลหอมแดงที่ได้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสามารถกระทำได้ทั้ง 3 วิธีการ แต่มีเทคนิค/แนวทางการเลือกใช้หรือการให้ปัจจัยแก่พืชแตกต่างกันไป เพราะแต่ละวิธีการนั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันไป ในเนื้อหาที่จะกล่าวต่อไปนี้ประกอบด้วยศัตรูหอมแดงทั้งด้านโรค และแมลง เฉพาะที่เป็นปัญหาสำคัญและมีการระบาดรุนแรง ภายในหัวข้อจะประกอบด้วยหัวข้อย่อย ดังนี้คือ สาเหตุการเกิดโรค ลักษณะอาการของโรคหรือลักษณะการทำลายของแมลง ฤดูการแพร่ระบาด และการป้องกันกำจัด ซึ่งจะอธิบายถึงรายละเอียดที่สังเกตเห็นได้เด่นชัด สำหรับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชจะบอกวิธีการจัดการ ทั้งวิธีการเขตกรรม วิธีการใช้/ชนิดสารเคมี และ วิธีการใช้/ชนิดจุลินทรีย์

1. โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

1.1 โรคแอนแทรคโนส หรือโรคหอมเลื้อย เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการ เชื้อเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืช ทำให้เกิดแผลเป็นแอ่งต่ำกว่าระดับผิวเนื้อปกติ บนแผลมีสปอร์ของรา เป็นหยดของเหลวสีส้มอมชมพู ซึ่งเมื่อแห้งจะเป็นตุ่มสีดำเล็ก ๆ เรียงเป็นวงรีซ้อนกันหลายชั้น ใบหอมแดงจะเน่า ต้นแคระแกร็น ใบบิดโค้ง หัวลีบยาว และเลื้อยไม่ลงหัว แล้วเน่าในที่สุดไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

การแพร่ระบาด รุนแรงในฤดูฝน หรือภายหลังฝนตกในฤดูหนาว

การป้องกันกำจัด

1.ควรเก็บชิ้นส่วนของพืชที่เป็นโรคไปเผาทำลายทุกครั้งที่พบเพื่อลดแหล่งแพร่เชื้อโรค

2.ก่อนปลูกควรปรับปรุงคุณสมบัติของดินไม่ให้เป็นกรดจัด เช่น ใส่ปูนขาวและปุ๋ยอินทรีย์ ให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และสมบัติทางกายภาพของดินดี ก่อนปลูก 1-2 สัปดาห์ ปริมาณตามคำแนะนำจากการวิเคราะห์ดิน

1.2 โรคใบไหม้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

ลักษณะอาการ ใบหอมจะเป็นแผลฉ่ำน้ำ ตอนเช้าแผลจะมีหยดน้ำเล็ก ๆ ตอนสายแผลจะแห้ง แผลเป็นรูปรี แหลมหัวท้าย เนื้อเยื่อกลางแผลโปร่งบางใส ขอบแผลฉ่ำน้ำ ถ้าแผลขนาดใหญ่ขึ้นใบจะหักพับและเหี่ยว มีสีเขียวอมเทาเหมือนถูกน้ำร้อนลวก ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแห้งตายในที่สุด
การแพร่ระบาด พบระบาดได้ตลอดปี ในฤดูฝนพบความรุนแรงเสียหายมาก และช่วงที่มีน้ำค้างลงจัดในฤดูหนาว

การป้องกันกำจัด รดต้นหอมด้วยน้ำปูนใส จะช่วยให้หอมแดงแข็งแรงทนทานต่อโรค

1.3 โรคใบจุดสีม่วง เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการ เริ่มจากใบหอมเป็นจุดขาวเล็ก ๆ ต่อมาขยายใหญ่รูปไข่สีน้ำตาลปนม่วง มีสปอร์สีดำเป็นผงละเอียดอยู่บนแผล ขอบแผลสีเหลือง ปลายใบหอมจะแห้ง

การแพร่ระบาด พบมากในฤดูหนาว

การป้องกันกำจัด ปรับปรุงดินเช่นเดียวกับโรคแอนแทรคโนส

1.4 โรคเหี่ยว เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการ ใบแก่รอบนอกจะเป็นสีเหลือง หลังจากนั้นจะเหี่ยวเหลืองทั้งต้น ลองดึงต้นหอมจะหลุดจากดินง่ายเพราะรากและโคนต้นเน่า บริเวณโคนรากจะมีสีน้ำตาล ส่วนหัวจะนิ่มเละเน่าลามไปส่วนอื่น อากาศชื้น ๆ จะพบเส้นใยสีขาวอมชมพูติดส่วนเป็นโรคและดินบริเวณใกล้เคียง

การแพร่ระบาด ฤดูฝนและช่วงที่ความชื้นสูง

การป้องกันกำจัด

1. ปรับปรุงดินเช่นเดียวกับโรคแอนแทรคโนส

2. หลีกเลี่ยงไม่ปลูกซ้ำที่เดิม หรือปลูกพืชหมุนเวียน

1.5 โรคหัวและรากเน่า เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการ ใบหอมเหลืองเหี่ยวแห้ง พบเส้นใยสีขาวหยาบ ๆ ที่โคนต้น และพบเม็ดสีขาวหรือน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลแก่และดำขึ้นปะปนกับเส้นใย หัวหอมจะเน่า เนื้อยุ่ย กลิ่นเหม็น

การแพร่ระบาด ฤดูฝนและช่วงที่มีความชื้นสูง และสามารถแพร่ระบาดหลังการเก็บเกี่ยวได้

การป้องกันกำจัด

1.นำพืชที่เป็นโรคและดินบริเวณนั้นไปทำเผาทำลาย ระวังไม่ให้เม็ดราแพร่กระจาย

2.ปฏิบัติตามคำแนะนำเช่นเดียวกับโรคเหี่ยว

1.6 โรคเน่าคอดิน เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการ ต้นกล้ามีปลายใบแห้งและยุบตายเป็นหย่อม ๆ เมื่อถอนพบรากเน่ามีสีน้ำตาลที่โคนต้น บริเวณคอดินมีรอยช้ำสีน้ำตาลเป็นจุดเล็กๆ แล้วต่อมาขยายใหญ่จนเต็มรอบโคนต้น ทำให้กล้าหักพับแห้งตาย

การแพร่ระบาด พบมากในฤดูฝน

การป้องกันกำจัด

1. เพาะกล้าหอมหว่านเมล็ดบาง ๆ ต้นกล้าไม่แน่นเกินไป ระบายน้ำออกไม่ให้แปลงแฉะ

2. รดต้นกล้าด้วยน้ำปูนใส

1.7 โรคเน่าเละของหอม เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

ลักษณะอาการ หัวมีลักษณะนิ่มภายใน เมื่อผ่าออกจะพบเนื้อเยื่อตรงกลางหัวเน่าช้ำ มีกลิ่นเหม็น ต่อมาจะเน่าเละทั้งหัว

การแพร่ระบาด ช่วงที่มีอากาศร้อนชื้น

การป้องกันกำจัด

1.ถ้าพบโรคในแปลง ต้องเก็บต้นเป็นโรคออกแล้วนำไปเผา และราดสารเคมีป้องกันกำจัดบริเวณที่เกิดโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

2.เก็บหอมในระยะแก่จัด ผึ่งให้แห้งก่อนเก็บรักษาในที่ร่มเย็น และมีอากาศถ่ายเทดี

การป้องกันกำจัดโรคหอมแดงด้วยสารเคมี

ชื่อโรค

สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช

อัตราการใช้ต่อน้ำ 20 ลิตร

วิธีการใช้

โรคแอนแทรคโนส

คาร์เบนดาซิม

6-12 กรัม

ผสมสารจับใบ พ่นทุก 3-5 วัน

แมนโคเซบ 80%

30-50 กรัม

โปรคลอราส แมงกานีส

โรคใบไหม้

ดาโนรอน

30 กรัม

ผสมสารจับใบพ่น ทุก 3-7 วัน

โรคใบจุดสีม่วง

คาร์เบนดาซิม

6-12 กรัม

ผสมสารจับใบพ่นทุก 3-5 วัน

โรคเหี่ยว

อีทริไดอะโซล

หรือ พีซี-เอ็นบี

30-50 กรัม

ราดลงดิน

โรคหัวและรากเน่า

อีทริไดอะโซล

หรือ พีซี-เอ็นบี

30-50 กรัม

ราดลงดิน

โรคเน่าคอดิน

พีซี-เอ็นบี, อีทริไดอะโซล

30-50 กรัม

ราดลงดิน 2-3 ครั้งห่างกัน 3-5 วัน

โรคเน่าเละของหอม

เด็กซานผสมดาโนรอน

30+30 กรัม

พ่นทุก 5-7 วัน

การป้องกันกำจัดโรคหอมแดงด้วยจุลินทรีย์

จุลินทรีย์ที่ใช้เป็นชนิดที่ไม่ก่อให้โทษกับมนุษย์ หรือเป็นประโยชน์กับพืชที่ปลูกโดยอาศัยหลักการแข่งขันทั้งปริมาณ และคุณภาพของจุลินทรีย์ ในการยึดครองพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณราก และบริเวณใต้ทรงพุ่มของพืช จุลินทรีย์ที่มีการผลิตในเชิงพาณิชย์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราคีโตเมี่ยม เชื้อแบคทีเรีย (แบซิลลัส ทูริงจิเนนซีส และ แบซิลลัส ซับทิลิส) เชื้อไวรัส (NPV) และ ไส้เดือนฝอย

2. แมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกันกำจัด

2.1 หนอนกระทู้หอม หนอนชนิดนี้สามารถสร้างความต้านทานภายในตัวต่อสารฆ่าแมลงหลายชนิด หนอนที่ฟักออกมาจากไข่ในวัยแรก ทำลายพืชโดยกัดกินส่วนต่าง ๆ ของพืช ความเสียหายมักรุนแรงกับหนอนในระยะโตตั้งแต่วัย 3 ขึ้นไป

ช่วงเวลาการระบาด พบระบาดตามแหล่งปลูกผัก ระบาดรุนแรงในช่วงฤดูร้อน

การป้องกันกำจัด

1.วิธีกล โดยเก็บกลุ่มไข่และหนอนทำลาย

2.ใช้เชื้อจุลินทรีย์ ได้แก่ เชื้อไวรัส (เอ็นพีวี) ของกรมวิชาการเกษตร อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสปอต-เอ็กซ์ อัตรา 6-10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ พ่นตอนเย็นทุก 5 วัน หรือเชื้อแบคทีเรีย เช่น เซนทารีเคลฟิน ดีเอฟ อัตรา60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นตอนเย็นทุก 5 วัน

3.สารสะกัดสะเดา อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อหนอนระบาด

4.สารเคมีฆ่าแมลง เช่น ไดอะเฟนไทซูรอน เทบูฟีโนไซด์ คลอฟลูอาซูรอน อัตราตามคำแนะนำ

2.2. เพลี้ยไฟหอม จะใช้ปากที่มีลักษณะเป็นแท่งเขี่ยเนื้อเยื่อให้ช้ำแล้วจึงดูดน้ำเลี้ยงจากเซลพืชที่ปลายยอดกาบใบและใบ ระยะแรกที่เข้าทำลายถ้าสังเกตไม่ละเอียดดีจะไม่พบแมลงและร่องรอย แต่อาการจะชัดเมื่อถูกทำลายรุนแรง

ช่วงเวลาการระบาด สภาพฝนชุกและอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส จะลดการเคลื่อนย้ายและการระบาดลง การระบาดรุนแรง พบในช่วงฤดูร้อนหรืออากาศแห้งแล้ง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม

การป้องกันกำจัด

1. ใช้กับดักกาวเหนียวติดแผ่นป้ายสีเหลืองสูงกว่าพืชเล็กน้อย อัตรา 80 กับดักต่อไร่

2. สารสะกัดสะเดา 0.1 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรพ่นทุก 5 วัน

3. สารฆ่าแมลง เช่น คาร์โบซัลแฟน หรือฟิโพรนิล หรือ อิมิดาโคลพริด ทุก 5 วัน

2.3 หนอนชอนใบ จะเข้าทำลายอย่างรวดเร็วเป็นครั้งคราวเนื่องจากวงจรชีวิตสั้น หนอนจะกัดกินอยู่ใต้ผิวใบ เห็นเป็นผงขาว ๆ ใบมีลักษณะโปร่ง หากทำลายใบหอมระยะต้นเล็ก การเจริญเติบโตชะงัก และต้นอาจตายได้

ช่วงเวลาการระบาด ช่วงฤดูแล้ง หรือระยะฝนทิ้งช่วง

การป้องกันกำจัด ใช้สารฆ่าแมลง เช่น ไตรอะโซฟอส และ คาร์แทป พ่นเพียง 1-2 ครั้ง การป้องกันกำจัดแมลงโดยใช้ศัตรูธรรมชาติ ศัตรูธรรมชาติของแมลงที่เข้าทำลายหอมแดงนั้น ประกอบด้วยตัวห้ำและตัวเบียน โดยธรรมชาติจะมีการควบคุมเพื่อรักษาสมดุลย์ของปริมาณ/ชนิดแมลงศัตรูหอมแดง เพื่อการเพิ่มผลผลิต ตัวห้ำและตัวเบียนในธรรมชาติได้รับสารพิษ เช่นเดียวกับแมลงด้วย จึงเกิดเสียสมดุลย์ธรรมชาติ ปัจจุบันพบว่าตัวห้ำ (สัตว์ หรือแมลงที่กินแมลงเป็นอาหาร) ตัวเบียน (สัตว์หรือแมลงที่อาศัยอยู่ในตัวแมลง) มีปริมาณลดน้อยลงมาก การควบคุมวิธีนี้จะได้ผลต่อเมื่อมีการสร้างสมดุลย์ธรรมชาติ หรือมีการเพาะเลี้ยงตัวห้ำ/ตัวเบียน เพื่อกำจัดศัตรูหอมแดงแต่ในเขตนี้จะต้องงดใช้สารเคมี หรือใช้สารเคมีที่ปลอดภัยต่อตัวห้ำ/ตัวเบียนด้วย ยกตัวอย่างตัวห้ำ เช่น นก งู แมลงปอ แมลงช้างปีกใส แมงมุม แมลงหางหนีบ มวนพิฆาต มวนเพชรฆาต ตัวเบียน เช่น แตนเบียน และใส้เดือนฝอย

การป้องกันกำจัดแมลงโดยวิธีกล เป็นการใช้เครื่องมือหรือแรงงานในการจับแมลงทำลายหรือรับประทาน การใช้กับดัก เช่น กับดักแสงไฟ และกับดักกาวเหนียว และ การใช้ตาข่ายป้องกันแมลง เป็นต้น

3. คำแนะนำการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย

การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสม เกษตรกรควรรู้จักศัตรูพืช ชนิดและอัตราการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งการเลือกใช้เครื่องพ่น และหัวฉีดที่ถูกต้อง นอกจากนั้นควรพ่นให้กระจายทั่วต้น โดยเฉพาะบริเวณที่ศัตรูพืชเข้าทำลาย มีข้อแนะนำควรปฏิบัติ ดังนี้

การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสม

1.ไม่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนสารเคมีที่ใช้จะสลายตัวถึงระดับปลอดภัย โดยดูจากตารางคำแนะนำการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

2.ตรวจอุปกรณ์เครื่องพ่นอย่าให้มีรอยรั่ว สารพิษอาจเปียกเปื้อนเสื้อผ้าและร่างกายของผู้พ่นได้

3.ต้องสวมหมวก เสื้อผ้า หน้ากาก หรือผ้าปิดจมูก ถุงมือ และรองเท้า ให้มิดชิดเพื่อป้องกันอันตรายจากสารพิษ

4.อ่านฉลากคำแนะนำ คุณสมบัติ และวิธีการใช้ ให้เข้าใจก่อนทุกครั้ง

5.ควรพ่นในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง และผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลาที่พ่นสาร

6.ควรเตรียมสารเคมีให้ใช้หมดในคราวเดียว ไม่ควรเหลือติดค้างในถังพ่น

7.เมื่อเลิกใช้ควรปิดฝาภาชนะบรรจุสารเคมีให้สนิท เก็บไว้ในที่มิดชิด ห่างจากสถานที่ ปรุงอาหาร แหล่งน้ำ และต้องปิดกุญแจโรงเก็บตลอดเวลา

8.ภายหลังการพ่นสารกำจัดศัตรูพืชทุกครั้ง ผู้พ่นต้องอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เสื้อผ้าที่ใส่ขณะพ่นสารต้องซักให้สะอาดทุกครั้ง

9.ทำลายภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดแล้ว อย่าทิ้งตามร่องสวน หรือทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลอง

4. การเก็บเกี่ยว

1. อายุการเก็บเกี่ยว ประมาณ 65-85 วัน ขึ้นกับสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะช่วงอุณหภูมิต่ำ จะทำให้อายุการเก็บเกี่ยวยืดยาวออกไป และมีอิทธิพลต่อการลงหัวของหอมแดงด้วย

2.เก็บเมื่อหอมแดงแก่เต็มที่ โดยสังเกตจากใบหอมแดงฟุบพับลง โคนก้านใบอ่อนนุ่ม เปลือกหุ้มหัวหอมเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มขึ้น

3.เก็บโดยการถอน ผึ่งแดดไว้ 3-4 ชั่วโมง เก็บเข้าร่มที่ไม่อับชื้น ทำความสะอาดหัวแล้วมัดกำ แขวนตากในร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก

5. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคและแมลง

การปฏิบัติด้านการเขตกรรมมีส่วนส่งเสริม หรือยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค และแมลงได้โดยตรงเช่น

- การปลูกพืชหมุนเวียน เป็นการปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่หนึ่งในระยะเวลาที่แตกต่างกัน หรืออาจปลูกแบบผสมผสานกันหลาย ๆ พืชในพื้นที่ในช่วงเวลาเดียว เป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคพืช และแมลงศัตรูพืชได้ทางหนึ่ง เนื่องจากพืชแต่ละชนิดมีคามต้านทานหรืออ่อนแอต่อโรคแตกต่างกัน และแมลงก็มีความชอบพืชอาหารแตกต่างกัน

- การเตรียมดิน ก่อนการเพาะปลูกควรไถดะตากดินไว้ระยะหนึ่ง แล้วจึงเตรียมดินเพื่อปลูกจะกำจัดวัชพืชที่เป็นพืชที่อยู่และอาหารของแมลง ไข่แมลงที่ฝังตัวอยู่ในดินถูกพลิกขึ้นและกลบฝังลงไปในดินจะตัดวงจรการเจริญพันธุ์ของแมลง นอกจากการไถเพื่อเตรียมดินแล้วควรต้องบำรุงดิน โดยการใส่ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยอินทรีย์ อัตราปีละ 1,000 – 3,000 กก./ไร่ ซึ่งจะช่วยให้โครงสร้างของดินดีขึ้น กล่าวคือทำให้ดินร่วนซุยระบายน้ำได้ดี จะช่วยลดการแฉะของดินส่งผลต่อการเกิดโรคราก/โคนเน่า ให้ลดลง ในขณะเดียวกันการปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของหอมแดง/ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคพืช ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยทั่วไปดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเป็นกรดปานกลางถึงกรดจัด จึงควรใส่ปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ อัตรา 100-300 กก./ไร่ ทุก ๆ ปี ขึ้นกับสภาพความเป็นกรดของแต่ละแปลงปลูก

เอกสารอ้างอิง

กลุ่มงานวิจัยแมลงศัตรูพืชผัก ไม้ดอกและไม้ประดับ. 2542. เอกสารวิชาการแมลงศัตรูพืชผัก โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย งามวงศ์วาน จตุจักร กรุงเทพฯ. 97 หน้า

สมาคมนักโรคพืชแห่งประเทศไทย. 2533. เอกสารประกอบการสัมมนา-สนทนาปัญหาโรคพืช 13 ธันวาคม 2533 ณ อาคารจักรพันธุ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ. 87 หน้า

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ. 2535. ผลงานวิจัยประจำปี 2535 เรื่อง เทคโนโลยีการผลิตหอมแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิต. สถาบันวิจัยพืชสวน กรุงเทพฯ. 28 หน้า

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ. 2541. เทคโนโลยีการผลิตพืชผัก. เอกสารประกอบการบรรยายฝึกอบรมสมาชิกกลุ่มสหกรณ์การเกษตร จ.บุรีรัมย์ ระหว่าง 29-30 สิงหาคม 2541 อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ. 94 หน้า

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ. 2542. เอกสารคำแนะนำเรื่องหอมแดง. สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร. กรุงเทพฯ. 10 หน้า

หจก. อุบลยงสวัสดิ์ออฟเซท. 2547. เกษตรอินทรีย์วิธีศรีสะเกษ. เอกสารเผยแพร่การทำเกษตรอินทรีย์ จังหวัดศรีสะเกษ. 60 หน้า

นายธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ

ผู้รวบรวมและเรียบเรียง