วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553

การผลิตผักที่เมืองชิงเต่า (Qingdao) สาธารณรัฐประชาชนจีน


การผลิตผักที่เมืองชิงเต่า (Qingdao) สาธารณรัฐประชาชนจีน

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปอบรมเกี่ยวกับการผลิตผักที่เมืองชิงเต่า เป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อเมืองชิงเต่า ก่อนหน้านั้นไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยและไม่รู้อยู่ตรงไหนของจีน เมื่อสืบค้นข้อมูลดูพบว่า เมืองชิงเต่าเป็นเมืองชายทะเล ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของประเทศจีน อยู่ในมณฑลซานตงหรือจังหวัดซานตง มีพื้นที่ 10,654 ตารางกิโลเมตร ประชากร 7.5 ล้านคน อากาศแบบกึ่งชื้น อุณหภูมิเฉลี่ย 12 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวอุณหภูมิเฉลี่ย 1.3 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเห็นได้ว่าอากาศค่อนข้างเย็นสบายทั้งปี เมืองชิงเต่ามีชื่อเสียงเรื่องเบียร์โดยเฉพาะเบียร์ชิงเต่า (Tsingtao) ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกแต่ยังไม่แพร่หลายในบ้านเรา การเดินทางเริ่มจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังกวางโจว หลังจากนั้นเดินทางจากกวางโจวไปชิงเต่า ถึงชิงเต่าประมาณ 6 โมงเย็น อากาศสลัวๆและมีฝนตกลงมาด้วย แต่สัมผัสได้ถึงอุณหภูมิที่เย็นแตกต่างจากบ้านเรามาก การอบรมในครั้งนี้มีผู้เข้ารับการอบรมจากประเทศในกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่าและสิงคโปร์ จำนวน 15 คน วัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านเทคโนโลยีการผลิตผัก การอบรมมีทั้งฟังการบรรยายและดูงาน หลังจากฟังการบรรยายทำให้ทราบว่า มณฑลซานตง มีการผลิตผักและผลไม้มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะที่ชูกั๋ว เป็นแหล่งผลิตผักที่ใหญ่ที่สุดเสียดายที่ไม่มีโอกาสไปดู แต่จากการเดินสำรวจตลาดสดที่บริเวณถนนปู่เตียน (Putian Lu) ซึ่งอยู่ใกล้ๆมหาวิทยาลัยชิงเต่าในตอนเช้า พบว่า มีผักและผลไม้สดเข้าสู่ตลาดเยอะมาก ผักและผลไม้ใหม่สดทุกวัน โดยเฉพาะผักกาดขาวหัวค่อนข้างใหญ่ เป็นผักที่มีความนิยมและสำคัญมาก ถือเป็นผักประจำชาติจีน การปลูกผักที่นี่มีทั้งการปลูกระบบเปิดในแปลงและระบบปิดคือ การปลูกในโรงเรือน เนื่องจากปลูกได้ตลอดปีและต้องการลดการใช้สารเคมี มีการปรับปรุงพันธุ์พืชสกุลแตง เช่น แตง เมลอน แตงโม และพืชอื่นๆ เช่น มะเขือเทศ ผักกาดกวางตุ้ง พริก มีสายพันธุ์เยอะมากและใช้เทคนิคตัวผู้เป็นหมัน เพื่อป้องกันการขโมยพันธุ์และการนำเมล็ดพันธุ์ไปใช้ ในแตงมีการใช้เทคนิคการเสียบยอดบนต้นตอเพื่อให้ต้านทานโรคและที่น่าสนใจคือ การใช้ต้นตอแล้วทำให้ผลแตงมีลักษณะเป็นมันวาว (bloomless) นอกจากนี้ยังมีการวิจัยระบบการปลูกพืชเนื่องจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ในปัจจุบันการผลิตผักในจีน รัฐบาลต้องการเพิ่มการส่งออกเนื่องจากผลผลิตมีมาก รัฐบาลพยายามควบคุมการจำหน่ายและลดใช้สารเคมี เนื่องจากเกษตรกรนิยมใช้สารเคมีมากกว่าการควบคุมด้วยชีววิธีและมีการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก การเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่า ทำไมจีนจึงบอกว่าเค้าเป็นอันดับหนึ่งในด้านการผลิตผัก เพราะนอกจากด้านเงินทุนและเทคโนโลยีแล้ว สภาพอุณภูมิที่ค่อนข้างเย็นตลอดปีทำให้จีนสามารถผลิตผักและผลไม้เมืองหนาวหรือกึ่งหนาวได้ดี ก็แอบอิจฉาเค้านิดๆว่าถ้าบ้านเรามีอุณหภูมิเหมือนที่เมืองชิงเต่า เราคงสามารถผลิตผักและผลไม้ที่มีมูลค่าได้เหมือนเค้า เกษตรกรเราคงมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

รัชนี ศิริยาน
นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ

การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนพิจิตร 1 ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ


การเลือกพื้นที่ ผักบุ้งเป็นพืชผสมตัวเองเป็นหลัก สามารถผสมข้ามตามธรรมชาติบ้าง ควรเว้นระยะห่างจากแปลงผักบุ้งพันธุ์อื่น อย่างน้อย 100 เมตร
การเพาะกล้า เพาะกล้าในแปลง เมื่ออายุกล้า 1 เดือน ย้ายลงปลูกในแปลง โดยตัดส่วนยอดออกครึ่งหนึ่ง (การปลูกโดยการเพาะกล้าแล้วตัดยอด จะเป็นการกระตุ้นให้มีการแตกแขนงมากขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันทุกต้น ซึ่งถ้าผักบุ้งจีนแต่ละต้นแตกแขนง หรือทอดยอดจากต้นในเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อถึงช่วงการออกดอกติดเมล็ดผักบุ้งจีนจะมีเมล็ดที่สมบูรณ์ เก็บเกี่ยวได้ในเวลาใกล้เคียงกัน แต่สามารถปลูกด้วยเมล็ดในแปลงได้โดยตรงและตัดยอดในแปลงภายหลัง) พื้นที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 1 - 2 กก. รดน้ำเช้า-เย็น
การเตรียมดิน ไถดินลึก 30 - 40 ซม. ตากดินทิ้งไว้ 2 - 3 สัปดาห์ แล้วไถพรวนอีก 1 - 2 ครั้ง เก็บวัชพืชออก ถ้าดินมี pH ต่ำ ให้ปรับสภาพของดินโดยใช้ปูนขาว ประมาณ 200 - 300 กก./ไร่ ทิ้งไว้ 1 - 2 สัปดาห์ ควรใส่ปูนขาวก่อนปลูกอย่างน้อย 15 วัน
การปลูก ยกแปลงให้สูง เตรียมแปลงปลูกขนาด 2 x 10 เมตร ระยะระหว่างแปลง 1 เมตร เพื่อความสะดวกต่อการม้วนเถาตอนเก็บเกี่ยว และลดแรงงานในการจัดเถาผักบุ้ง ใช้ระยะระหว่างต้น 0.50 เมตร ระยะระหว่างแถว 0.50 เมตร ขุดหลุมตามระยะปลูกลึก 20 ซม. ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกในอัตรา 2 ตันต่อไร่ หินฟอสเฟต อัตรา 100 กก./ไร่ และปุ๋ยเคมีสูตร 15 -15 -15 อัตรา 50 กก./ไร่ ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา อัตรา 100 กก./ไร่ หว่านให้ทั่วแปลง ซึ่งการใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา จะช่วยป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราได้ นำต้นกล้าที่ตัดส่วนยอดออกแล้ว มาปลูกในแปลง 2-3 ต้นต่อหลุม รดน้ำให้ชุ่มทันทีหลังปลูก
การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13 -13 - 21 อัตรา 30 กก./ไร่ เมื่อเริ่มติดเมล็ด
การให้น้ำ ในระยะแรกเมื่อปลูกลงแปลงควรให้น้ำทุกวัน เมื่อโตขึ้นให้สังเกตความชื้นของดิน ถ้าดินมีความอุ้มน้ำดีอาจเว้นระยะการให้น้ำได้หลายวัน หลังปลูก 2 เดือน หลังจากออกดอกและติดฝักแล้ว งดการให้น้ำ
การกำจัดวัชพืช ควรมีการพรวนดินและกำจัดวัชพืช ก่อนที่จะแตกแขนงทอดยอด
การตรวจสอบลักษณะที่ผิดปกติ ตรวจสอบ 2 ระยะ คือ ระยะกล้า และระยะที่ดอกบาน หากพบลักษณะต้นและดอกที่ผิดสังเกตให้ถอนทิ้งทันที (ดอกผักบุ้งจีนพิจิตร 1 มีสีขาว)
การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ หลังจากปลูกได้ 3 เดือน เมล็ดจะเริ่มแก่และเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ได้ โดยสังเกตจากใบผักบุ้งจีนจะมีสีเหลืองเถาเริ่มเหี่ยว หยุดการออกดอก ฝักที่ติดเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เมื่อฝักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งไร่แล้ว ให้นำจอบมาถากที่โคนต้นทิ้งไว้ 2-3 วัน ต่อจากนั้นให้ม้วนเถาผักบุ้งจีนมากองรวมกันผึ่งแดดไว้จนแห้ง
การทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ หลังจากตากเถาจนแห้งสนิทดีแล้ว นำเถาผักบุ้งจีนที่ม้วนไว้ไปนวดเมล็ดออกจากฝัก แล้วทำความสะอาดเมล็ด คัดเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ ถูกแมลงทำลายและสิ่งเจือปนออก ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดโดยการทดสอบความงอก เมล็ดต้องมีความงอกมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ (อัตราความงอกมาตรฐาน) เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในภาชนะที่แห้ง ปราศจากความชื้น ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ ในพื้นที่ 1 ไร่ ในที่ดอนจะให้ผลผลิตประมาณ 200 กก.และที่ลุ่มจะให้ผลผลิตประมาณ 300 กก. ผลผลิตขึ้นอยู่กับพันธุ์ผักบุ้ง สภาพแวดล้อมและการปฏิบัติดูแล

จิรภา ออสติน
นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ