วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

เวบไซด์ของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ

เรียน ทุกท่านที่ให้ความสนใจบล็อกของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษแห่งนี้
เนื่องจากศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ มีเวบไซด์ แล้ว เชิญเข้าได้ที่นี้

ดังนั้นดิฉันผู้ดูแลบล็อก จึงขอยุติการเขียนบล็อกนะตรงนี้ ถ้าผู้ใดสนใจอยากเข้าติดตามบล็อกของดิฉันเอง เชิญเข้าไปที่นี้ได้ http://www.toihorticultural.blogspot.com/

จิรภา ออสติน
ผู้ดูแลบล็อก

วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แก้ข่าวหอมแดงที่ อ.ราษีไศลเกิดโรคระบาด



จังหวัดศรีสะเกษเป็นแหล่งปลูกหอมแดงขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เพาะปลูกของทั้งภาค หอมแดงศรีสะเกษมีคุณลักษณะพิเศษ คือ เปลือกมีสีแดงเข้ม ด้านในมีสีม่วง กลิ่นฉุนแรง เก็บรักษาได้ยาวนานเกษตรกรนิยมปลูกหลังจากช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปี แหล่งที่เพาะปลูกที่สำคัญของจังหวัด คือ อำเภอยางชุมน้อย อำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์และอำเภอวังหิน ในปีเพาะปลูก 2552–2553 จังหวัดศรีสะเกษมีเนื้อที่ 28,771 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 86,313 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 3,018 กิโลกรัม มีเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงจำนวน 10,690 ราย และ อ.ราษีไศลมีศักยภาพในการผลิตหอมแดงสูงที่สุดโดยมีผลผลิตรวมและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ที่ 29,771.75 ตัน และ 3,450 ตันต่อไร่ ตามลำดับ

สืบเนื่องจากศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้รับหนังสือที่ ศก 0509/856 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 ของสำนักงานเกษตรอำเภอราษีไศล เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างหอมแดงของเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมตัวอย่างต้นหอมแดงเพื่อประกอบการวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีเผยแพร่ข่าวทางเวปไซต์http://kaodee.com/read/kaodee.wc/?id=1ffcff7796c98e2a345d31e5507830fd&ch=34&c=17 โดยรายงานว่าต้นหอมแดงที่ปลูกไว้ทั้งแปลงได้เน่าตาย โดยสังเกตเห็นเริ่มจากใบเหี่ยว รากไม่เจริญเติบโตและแห้งตายในที่สุด ทางเกษตรกรสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อและระบาดทั่วทั้งแปลง

นักวิชาการเกษตรของศูนย์ฯ ได้ทำการตรวจดูลักษณะภายนอกของต้นหอมแดงด้วยตาเปล่า พบว่า หอมแดงมีลักษณะใบแห้งไหม้ แต่ไม่พบอาการและเชื้อสาเหตุโรค หลังจากนั้นได้เก็บตัวอย่างหอมแดงที่ได้รับในกล่องชื้น เพื่อสังเกตอาการของโรคแต่ไม่พบเชื้อสาเหตุของโรคหอมแดงแต่อย่างใด จึงรีบลงพื้นที่เพื่อไปหาสาเหตุ เบื้องต้นมีข้อสังเกตดังนี้
1.แปลงของเกษตรกรได้รับความเสียหายทั้งแปลงมีพื้นที่ปลูก 1 ไร่ โดยใบของต้นหอมแดงเหี่ยวแห้งทั้งต้นและเมื่อขุดหัวหอมแดงขึ้นมาพบว่าบางหัวเน่า มีเชื้อราและหนอน แต่มีอีกหลายหัวที่ไม่พบอาการเน่า กลับมีการแตกยอดใหม่ขึ้นมา
2.เมื่อสังเกตแปลงหอมแดงที่อยู่ข้างเคียงอีก 3 แปลง พบว่าไม่มีอาการในลักษณะเดียวกัน
3.สอบถามเกษตรกรทราบว่าช่วงระหว่างปลูก(เกษตรกรปลูกหอมแดงเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน) ได้มีการพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพที่หมักจากปลาร่วมกับน้ำส้มควันไม้ อัตรา 500 ซีซีต่อน้ำประมาณ 75 ลิตร(ถังพลาสติกสีฟ้าขนาดจุ 150 ลิตร ใช้น้ำผสมเพียงครึ่งถัง) พ่นทุกสัปดาห์ติดต่อกัน 3 ครั้ง โดยในการพ่นครั้งที่ 2 สังเกตว่าใบหอมแดงเหี่ยว มีใบแห้ง และในการพ่นครั้งที่ 3 สังเกตว่าใบเหี่ยวแห้งและมีการแตกยอดใหม่ เมื่อใส่ปุ๋ยเคมี(เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีไปแล้วจำนวน 3 กระสอบ) และรดน้ำ พบว่าต้นหอมแดงหัวเน่าเละมากกว่าเดิม
จากข้อสังเกตดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า หอมแดงของเกษตรกรที่ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เกิดใบไหม้ทั้งแปลงไม่ได้เกิดจากการระบาดของโรค แต่เป็นการใช้สารที่ระดับความเข้มข้นมากเกินไปพืชจึงได้รับความเสียหาย ส่วนการเกิดเชื้อราและหนอนในหัวที่เน่าตายนั้นเกิดขึ้นภายหลังจากใบของหัวหอมถูกทำลายแล้ว

วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา ดังนี้
1.การใช้น้ำหมักชีวภาพที่หมักปลาร่วมกับน้ำส้มควันไม้ เนื่องจากน้ำส้มควันไม้มีฤทธิ์เป็นกรด (
pH ประมาณ1.5 –3.7) จำเป็นต้องมีการเจือจางเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป เช่น เจือจาง 20 - 50 เท่า เพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในดินก่อนปลูกพืชประมาณ 10 วัน แต่โดยทั่วไปเกษตรกรมักทำการเจือจาง 200 เท่าเพื่อใช้ทั้งการพ่นทางใบและการรดลงดิน ซึ่งในกรณีนี้สามารถทำได้ในพืชทั่วๆ ไป แต่การพ่นทางใบของหอมแดงควรเจือจาง 500 – 800 เท่า ข้อควรรู้อย่างหนึ่งของน้ำส้มควันไม้คือ น้ำส้มควันไม้ไม่ใช่ธาตุอาหาร เป็นเพียงสารเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีและปุ๋ยเท่านั้น และเนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นกรดจึงช่วยควบคุมการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในดินและบนต้นพืชได้เมื่อใช้ในระดับการเจือจางที่เหมาะสม นั่นคือก่อนใช้สารควรทราบอัตราส่วนที่ชัดเจน และวิธีการใช้ว่าควรรดลงดิน พ่นทางใบ หรือผล เป็นต้น เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายกับพืชและเกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้การใช้ประโยชน์น้ำหมักชีวภาพในพื้นที่การเกษตร ในพืชผัก อัตราแนะนำ คือ 8 ช้อนโต๊ะ (80 ซีซี)ต่อน้ำ 4 ปี๊บ(80 ลิตร) ในพื้นที่ 1 ไร่ โดยพ่นหรือรดลงดิน ใบของหอมแดงมีลักษณะอ่อนและอวบน้ำ การได้รับสารที่มีความเข้มข้นสูงมากเกินไปจะไปทำลายโครงสร้างของใบหอม อีกทั้งการใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพที่หมักจากเศษปลาจะมีธาตุไนโตรเจนค่อนข้างสูง เมื่อใช้ในระดับความเข้มข้นที่สูงก็จะทำให้เป็นอันตรายเช่นกัน
2.การใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินความจำเป็น หอมแดงซึ่งเป็นพืชอวบน้ำอยู่แล้ว เมื่อได้รับปุ๋ยในปริมาณมากก็จะมีการเจริญเติบโตทางใบมากกว่าปกติ จนทำให้อ่อนแอต่อการกระทบของสารเคมี เกษตรกรควรมีความระมัดระวัง และใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าการวิเคราะห์ดิน ซึ่งกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำไว้ดังนี้

ค่าวิเคราะห์ดิน

ใส่ปุ๋ย N (กก./ไร่)

ปริมาณ OM

น้อยกว่า 1.5 %

15

1.5-2.5 %

10

มากกว่า 2.5 %

10

ค่าวิเคราะห์ดิน

ใส่ปุ๋ย P2O5 (กก./ไร่)

ฟอสฟอรัส (P)

น้อยกว่า 10 มก./กก.

15

10-20 มก./กก.

10

มากกว่า 20 มก./กก.

5

ค่าวิเคราะห์ดิน

ใส่ปุ๋ย K2O (กก./ไร่)

โปแตสเซียม (K)

น้อยกว่า 60 มก./กก.

15

60-100 มก./กก.

10

มากกว่า 100 มก./กก.

5


ตัวอย่างเช่น ผลการวิเคราะห์ดินในแปลงมีปริมาณ
OM น้อยกว่า 1.5 % มีฟอสฟอรัส (P) น้อยกว่า 10 มก./กก. และมีโปแตสเซียม (K) น้อยกว่า 60 มก./กก. ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 จำนวน 2 กระสอบต่อไร่ตลอดฤดูกาลผลิต
เอกสารอ้างอิง
1.โครงการการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ. กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร,2551, 53 หน้า.
2.คู่มือการพัฒนาที่ดินสำหรับหมอดินอาสาและเกษตรกร. กรมพัฒนาที่ดิน. 2553, 236 หน้า.
3.สืบค้นจาก
http://www.rdi.ku.ac.th/news_announce/kurdi/Year_48/15/Woodvinegar.pdf
4.สืบค้นจาก http://www.charcoal.snmcenter.com/charcoalthai/charcoal_fun3.php
จิรภา ออสติน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
รัชนี ศิริยาน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
อรรถพล รุกขพันธ์
นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ