วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การผลิตพริกปลอดภัยกับเกษตรกรคนเก่ง จ.ศรีสะเกษ


พริก เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญพืชหนึ่งที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ดำเนินการจัดทำเวทีเสวนากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผู้พริกใน จ.ศรีสะเกษ เพื่อสอบถามกระบวนการผลิต และปัญหาต่างๆในการผลิตพริก จากผลการเสวนาดังกล่าว พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ทำการปลูกพริกในฤดูแล้ง โดยทำการเพาะกล้าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน หลังจากนั้นในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน จึงทำการย้ายพริกลงปลูกในแปลง พันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่ พันธุ์ซูเปอร์ฮอต หัวเรือ และห้วยสีทน สำหรับปัญหาสำคัญในการผลิตที่ส่งให้ผลผลิตลดลง ได้แก่ โรคและแมลง โรคที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา แมลงที่พบเป็นพวกหนอนเจาะผล และมีการระบาดของเพลี้ยไฟมาก เมื่อพบปัญหา เกษตรกรจะซื้อสารเคมีที่ร้านค้ามีลักษณะเป็นชุด บางครั้งใช้ไม่ถูกกับโรคและแมลงที่เกิดขึ้น มีการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากในการป้องกันกำจัดศัตรูพริก ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และยังเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในผลผลิต เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค จากสาเหตุดังกล่าว ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จึงได้ดำเนินการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพริกเพื่อพัฒนาระบบการผลิตพริกปลอดภัยโดยสามารถลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต และสารพิษตกค้างในผลผลิตของเกษตรกรใน จ.ศรีสะเกษ ในพื้นที่ อำเภอพยุห์ อำเภอห้วยทับทัน และอำเภอราษีไศล ซึ่งสามารถสรุปขั้นตอนการผลิตพริกอย่างปลอดภัย และลดต้นทุนการผลิตพริกได้ (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 ขั้นตอนการผลิตพริกปลอดภัยและลดต้นทุนการผลิต

ขั้นตอนการผลิตพริก

วิธีปฏิบัติตามคำแนะนำ

1. การไถ

ไถดะ 1 ครั้ง ตากแดดไว้ 15 วัน

ไถพรวน ไถแปร 1 ครั้งจึงยกแปลง

ใส่ปูนโดโลไมท์ อัตรา 100 กก./ไร่ ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ จึงปลูก

2. การเตรียมเมล็ดพันธุ์

แช่เมล็ดพันธุ์พริกด้วยน้ำอุ่น 15-20 นาที ก่อนเพาะ

3. การปลูก

แช่ต้นกล้าด้วยเชื้อราไตรโคร์เดอร์มา 1 ชม.ก่อนปลูก

4.วิธีการปลูก

ใช้วิธีปักดำ ระยะระหว่างต้น 45 ซม. ระหว่างแถว 100 ซม.

5. การใช้ปุ๋ย

5.1 ปุ๋ยหมักแห้ง

-ใส่ปุ๋ยหมักแห้งผสมเชื้อไตรโครเดอร์มา อัตรา 150-250 กก./ไร่

5.2 การใส่ปุ๋ยเคมี

ใส่ปุ่ย 15-15-15 อัตรา 20-30 กก./ไร่ หลังปลูก 10-15 วัน

และ หลังจากนั้นใส่ทุก 20-30 วัน

6. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

- สูตรสมุนไพรและน้ำหมักชีวภาพ (ตารางที่ 2)

จากผลการดำเนินงานในปี 2550-2552 โดยเฉพาะในเขตอำเภอพยุห์ ทำให้พบเกษตรกรคนเก่งที่มีความรู้ ความสามารถ ในการผลิตพริกปลอดภัยโดยลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพริก และมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ที่ปฏิบัติเองได้สู่เกษตรกรผู้ปลูกพริกรายอื่นๆได้ คือ นายดำรง อรุณจรัส บ้านเลขที่ 269/2 หมู่ 8 บ้านป่าไร่ ต.พรหมสวัสดิ์ อ.พยุห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการที่อยากปลูกพริกแบบไม่ใช้สารเคมีเนื่องจากตระหนักถึงอันตรายจากสารเคมี ทำให้มีความพยายามในการศึกษาหาความรู้ นำสูตรสมุนไพรและน้ำหมักชีวภาพต่างๆ มาทดลองใช้ จนประสบความสำเร็จในการป้องกันกำจัดศัตรูพริก และยังมีน้ำหมักชีวภาพสูตรปุ๋ย สูตรเร่งดอก เร่งผล (ตารางที่ 2) ซึ่งล้วนแต่เป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นนั้น สำหรับเกษตรกรท่านใดสนใจอยากปฏิบัติตาม สามารถติดต่อสอบถามได้ตามที่อยู่ดังกล่าว คำแนะนำสำหรับเกษตรกรผู้หันมาเลือกแนวทางนี้ควรมีความขยันมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะแปลงพริกที่อยู่ใกล้กับแปลงที่ใช้สารเคมีมากๆ ควรจะอยู่ห่างไกลจากแปลงดังกล่าว ดังนั้นควรชักชวนเพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆแปลงมาจัดตั้งเป็นกลุ่มจะดีมาก

ตารางที่ 2 การป้องกันกำจัดศัตรูพริกโดยใช้สมุนไพรและน้ำหมักชีวภาพ

ปัญหา

ชนิด/ประเภท

การป้องกันกำจัด

หมายเหตุ

1.โรค

1.1 โคนเน่าและรากเน่าเกิดจากเชื้อรา

-ในช่วงเตรียมแปลงใช้ปูนขาวปรับสภาพดิน

-รองพื้นด้วยปุ๋ยหมักแห้งผสมเชื้อไตรโครเตอร์มาสด

-แช่ต้นกล้าด้วยเชื้อราไตรโครเดอร์มา 1 ชม.ก่อนปลูก

-ถอนต้นที่เป็นโรคออกนอกแปลงแล้วเผาทำลาย

2. แมลง

2.1 เพลี้ยไฟ ไรแดง

-ใช้น้ำหมักยาสูบ อัตรา 100-150 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

- ส่วนผสม : สูตรยาสูบ

ยาสูบ 100 กรัม

น้ำส้มสายชู 5% 250 ซีซี

เหล้าขาว 250 ซีซี

หมักทิ้งไว้ 3 วัน

-ใช้น้ำหมักสมุนไพรขับไล่แมลง อัตรา 30-50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

- ส่วนผสม: สูตรสมุนไพรขับไล่แมลง

ใบและก้านสะเดา 20 กก.

ใบยูคาลิปตัส 2 กก.

ข่าแก่ 2 กก.

เครือบอระเพ็ด 2 กก.

จุลินทรีย์EM240มล.(1แก้ว)

กากน้ำตาล 240มล.(1แก้ว)

หมักทิ้งไว้ 15 วัน

2.2 หนอน

-ใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรลูกคูณ อัตรา 100-150 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

- ส่วนผสม : สูตรลูกคูณ

ลูกคูณ(สีดำ)ทุบ 10 กก.

กากน้ำตาล 3 กก.

น้ำมะพร้าว 2 ลูก

ใบสะเดา 1 กก.

ตะไคร้หอม 1 กก.

หมักทิ้งไว้ 2 สัปดาห์

- ใช้น้ำหมักสมุนไพรขับไล่แมลง อัตรา 30-50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

3. อื่นๆ

3.1 เร่งดอก เร่งผล

- ใช้น้ำหมักชีวภาพ อัตรา 100 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นตอนเย็น เมื่อพริกเริ่มออกดอก (15 วัน/ครั้ง)

-ส่วนผสม : น้ำหมักสูตรเร่งดอก-ผล

นม (หนองโพ) 1 กก.

ไข่ไก่ (ตีให้แตก) 1 กก.

แป้งข้าวหมากบด 1 ก้อน

หมักไว้ 1 สัปดาห์

3.2 สูตรปุ๋ย

- ใช้น้ำหมักชีวภาพ (ปลา) อัตราที่ใช้ 200 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร พ่นตอนเย็นอาทิตย์ละ 1 ครั้ง

-ส่วนผสม:สูตรปลา

ปลาเล็ก(ตัวและหัว)10 กก.

กากน้ำตาล 3 กก.

ใบสะเดา ½ กก.

ตะไคร้หอม ½ กก.

หมักไว้ 2 สัปดาห์

- ใช้น้ำหมักชีวภาพ (หอยเชอรี่) อัตราที่ใช้ 200 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร พ่นตอนเย็น 2 อาทิตย์/ครั้ง

-ส่วนผสม:สูตรหอยเชอรี่

หอยเชอรี่ 10 กก.

กากน้ำตาล 3 กก.

ใบสะเดา ½ กก.

ตะไคร้หอม ½ กก.

หมักไว้ 2 สัปดาห์

การลดสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพริก ข้อดีคือมีผลทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ถ้าหากลดไม่ได้ก็ควรใช้อย่างปลอดภัยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะระบุกำหนดการใช้ครั้งสุดท้ายก่อนทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตพริก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและลดสารพิษตกค้างในผลผลิตพริก (ตารางที่ 3)

ตารางที่ 3 การป้องกันกำจัดศัตรูพริกอย่างปลอดภัยโดยใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

ปัญหา

ชนิด/ประเภท

การป้องกันกำจัด

คำแนะนำ

1.โรค

1.1 โคนเน่าและรากเน่าเกิดจากเชื้อรา

โคนต้นเน่า มีเส้นใยสีขาวรอบๆโรค เหี่ยว ใบเหลือง ตาย

-ในช่วงเตรียมแปลงใช้ปูนขาวปรับสภาพดิน

-รองพื้นด้วยปุ๋ยหมักแห้งผสมเชื้อไตรโครเตอร์มาสด

-ถอนต้นที่เป็นโรคออกนอกแปลงแล้วเผาทำลาย

-ใช้น้ำปูนใสรดหลุมที่เป็นโรคและต้นที่อยู่รอบๆแปลง

1.2 ตากบ

พบแผลกลมบนใบกลางแผลสีขาวอมเทาขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม

พ่นด้วยสารเมนโคเซบ 80% ดับลิวพี อัตรา 30-50 กรัม หรือสารเบโนมิล 50% ดับลิวพี อัตรา 10-20 กรัม หรือ สารคาร์เบนดาซิม ต่อน้ำ 20 ลิตร

หยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว 7 วัน

1.3 แอนแทรกโนส

พบจุดฉ่ำน้ำแผลบุ๋มเล็กน้อย แผลขยายใหญ่ขึ้น

ก่อนปลูกแช่เมล็ดในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50-50 oc นาน 15-20 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยสารเบโนมิล 50%ดับลิวพี อัตรา 3 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม

-หยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว 7 วัน

- พ่นแคลเซียมไนเตรท อัตรา 40-60 กรัม/น้ำ 1 ลิตรหลังปลูก 1 เดือน

- เมื่อพบอาการโรคพ่นด้วยสารแมนโคแซบ 80%ดับลิวพี อัตรา 30-50 กรัม หรือสารเบโนมิล 50% ดับลิวพี อัตรา 10-20 กรัม หรือ สารอะซ็อกซีสโตรบิน 25%เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

2. แมลง

2.1 เพลี้ยไฟพริก

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ขอบใบม้วนงอขึ้น ปลายใบไหม้

-พ่นด้วยสารคาร์บาริล 85% ดับลิวพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

- หยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน

-สารอิมิดาโคลพริด 10%เอสแอล อัตรา 20-40 มิลลิลิตร หรือ 5%ซีซี อัตรา 30-40 มิลลิลิตร หรือ สารฟิโปรนิล 5%เอสซี อัตรา 10-20 มิลลิลิตร หรือสารฟลูเฟนนอกซูรอน 5%อีซี อัตรา 20-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

- หยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว 7 วัน

2.2 ไรขาวพริก

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ขอบใบม้วนลง

- พ่นด้วยกำมะถันผง 80%ดับลิวพี อัตรา 60-80 กรัม หรือสารโฟซาโลน 35%อีซี อัตรา 60-80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

- หยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน

- สารอามีทราซ 20%อีซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตร หรืออะบาเม็กติน 1.8%อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตร หรือฟิโปรนิล 5%เอสซีอัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

-หยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว 7 วัน

2.3 หนอน (หนอนเจาะสมอฝ้าย)

-แบคทีเรียบาซิลลัสทูริงเยนซิส อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

-หยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว 7 วัน

- สารเดลทาเมทริน 3%อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือสารแลมป์ดาไซฮาโลทริน 25%อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

-หยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยว 7 วัน

การลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตพริกไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้ปุ๋ยเคมี หรือลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพริกลงจะให้ประโยชน์ในเบื้องต้นคือต้นทุนการผลิตลดลง สิ่งสำคัญมากที่สุดอีกอย่างคือสุขภาพของผู้ผลิตเองมาเป็นอันดับแรก เนื่องจากท่านเป็นคนแรกที่จะได้สัมผัสสารเคมีทุกครั้งพ่นออกไป บุคคลต่อมาต่อมาคือผู้บริโภคซึ่งจะได้รับสารพิษตกค้างในผลผลิต ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงควรหันมา ลด ละ เลิก แต่หากทำไม่ได้ก็ควรใช้อย่างปลอดภัยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร หรืออาจจะนำมาประยุกต์ใช้ในแบบผสมผสานไปก่อนก็ได้

นางสาวสุภาวดี สมภาค

นักวิชาการเกษตรชำนาญการ

ผู้รวบรวมและเรียบเรียง

1 ความคิดเห็น:

  1. รับซื้อพริกสดถึงหน้าสวนราคา/วันตามราคาตลาด
    ซื้อสดจ่ายสดไม่ผ่านนายหน้าติดต่อ098-1490161

    ตอบลบ