ช่วงปลายฝนที่ผ่านมาได้มีโอกาสติดตามพี่นักวิชาการเกษตรของศูนย์ฯ ไปตรวจดูความก้าวหน้าของแปลงมะละกอแขกดำศรีสะเกษ ที่ อ.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ ระหว่างทางได้แวะซื้อถั่วลิสงสดกลับมาต้มกิน จังหวะนั้นมีเด็กน้อยหิ้วถุงอะไรสักอย่างมาให้แม่ดู สอบถามได้ความว่าเป็น “เห็ดตาโล่” เป็นเห็ดที่มีในท้องถิ่นอิสานและกินกันมาช้านาน แต่เนื่องจากมีปริมาณน้อยและมีในช่วงเวลาสั้นๆ จึงไปไม่ถึงตลาดก็กินกันหมดเสียก่อน ชาวบ้านเห็นสนใจที่ถามกันใหญ่เลยแบ่งใส่ถุงมาให้แถมบอกวิธีการประกอบอาหารเสร็จสรรพ กลับมาหาข้อมูลทั้งเอกสารและการสอบถามพบว่าคนแถบอิสานรู้จักและกินกันมานานแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เคยเห็นและมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังมีความสับสนในการรายงานชื่อวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าอยู่ในสกุล Tulostoma sp.
ตามการจัดลำดับทางเห็ดรา เห็ดตาโล่อยู่ในอันดับ Boletales วงศ์ Sclerodermataceae สกุล Calostoma ซึ่งเห็ดในสกุลนี้มีรายงานอยู่ 29 ชนิดทั่วโลก ส่วนชื่อระบุชนิดของเห็ดที่ได้มานี้ยังไม่ชัดเจนแต่มีรายงานว่าพบ C. insignis ในประเทศไทยและมีลักษณะที่คล้ายกับเห็ดตาโล่ ลักษณะเด่นของเห็ดในสกุลนี้คือมีเมือกใสเป็นสารพวกเจลลาตินและคิวตินมีคุณสมบัติกันน้ำและรักษาความชื้นไว้ในส่วนของ “กระเปาะ” ในระบบนิเวศจัดเห็ดตาโล่ไว้ในกลุ่มผู้ย่อยสลาย อาจเติบโตเดี่ยวๆ หรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่มก็ได้ พบตาม ขอนไม้ เนินเขาที่มีดินทับถมกันนาน บริเวณที่มีเศษใบไม้ผุเปื่อยที่มีร่มเงา พบในช่วงที่มีฝนตกชุก ในขณะอายุน้อยเห็ดมีรูปร่างเป็นก้อนกลมและมีเมือกที่เป็นเจลลาตินและคิวตินใสๆ หุ้มอยู่ชั้นนอกสุดเป็นผนังชั้นนอก เมื่ออายุมากขึ้นส่วนของเจลลาตินนี้จะแห้งและล่อนหลุดไป เผยให้เห็นผนังชั้นกลาง ที่มีความเหนียวหุ้มส่วนที่กลมคล้ายลูกบอล ผิวเรียบ สีขาวหรือขาวออกเหลือง โตเต็มที่มีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ในส่วนปลายของลูกกลมๆ นี้มีรอยแยกเป็นสันนูนรูปดาวสีเหลือง 5 – 7 อัน เป็นช่องที่จะปลดปล่อยสปอร์ออกมา ชั้นในสุดเป็นเนื้อเยื่อบางๆ ที่หุ้มสปอร์เอาไว้ และจะยึดติดอยู่กับผนังชั้นกลางเฉพาะส่วนปลายยอดที่เป็นรอยแยกเท่านั้น ซึ่งรอยแยกนี้จะแตกและปลดปล่อยสปอร์ออกมาเมื่อเห็ดมีการเจริญเติบโตเต็มที โดยกลุ่มของสปอร์จะมีสีขาวเมื่ออายุน้อย จากนั้นจึงกลายเป็นสีเหลืองเมื่อเติบโตเต็มที่ สปอร์มีรูปร่างยาวรี ขนาดยาว 14 -28 ไมโครเมตร และหนา 6 – 11 ไมโครเมตร ผนังของสปอร์เป็นสันนูนลายตาข่ายที่มีลักษณะเฉพาะในเห็ดแต่ละชนิดจึงสามารถนำลักษณะของลายบนสปอร์มาจัดจำแนกเห็ดในสกุล Calostoma sp. ได้ โครงสร้างที่เป็นสันนูนลายตาข่ายนี้ต่อไปจะพัฒนาเป็นเส้นสายที่ทำหน้าที่คล้ายรากเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของต้นเห็ดอ่อนต่อไป เมื่อเห็ดอายุมากขึ้นจะมีการพัฒนาในส่วนของก้านชูหรือลำต้นซึ่งเป็นเจลลาตินที่ทำหน้าที่ค้ำยันและชูส่วนของกระเปาะเห็ดให้สูงขึ้นเพื่อช่วยในการแพร่กระจายของสปอร์ ก้านชูมีลักษณะเป็นพู เป็นร่องยาวจำนวน 6 – 8 พู มีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมแดง ยาว 4 – 6 เซนติเมตร และ หนา 2 -4 เซนติเมตร ส่วนของก้านชูนี้จะเชื่อมต่อกับเส้นสายที่ทำหน้าที่เหมือนรากในพืชชั้นสูง
ชาวบ้านแถบอิสานเรียกเห็ดชนิดนี้ว่าเห็ดตาโล่ แถบจังหวัดอำนาจเจริญเรียกเห็ดตาเหลือก เนื่องจากส่วนของหมวกเห็ดที่เป็นบริเวณสร้างและเก็บสปอร์มีรูปร่างกลม ไม่ได้มีลักษณะเป็นกลีบเหมือนเห็ดทั่วๆ ไป และมีเมือกใสหุ้มรอบมองคล้ายลูกตาของคน นิยมนำมาทำลาบทั้งกินดิบและนำไปลวกน้ำร้อนแล้วเอามายำ ใส่พริกป่น ข้าวคั่ว น้ำปลา หรือนำไปแกงใส่ใบมะขามอ่อน เป็นต้น แถบจังหวัดร้อยเอ็ดนิยมนำมาทำลาบโดยไม่ต้องลวกเวลาทานจะเคี้ยวกรุบกรอบ รสชาติเย็น ชืด อีกทั้งมีคุณสมบัติเป็นอาหารฤทธิ์เย็นสามารถปรับความสมดุลของร่างกายให้หายจากอาการร้อนในได้ เห็ดตาโล่เป็นเห็ดพื้นบ้านที่พบในจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ และแถบจังหวัดใกล้เคียง แม้เห็ดตาโล่ไม่ได้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจหรือได้รับความนิยมเหมือนกลุ่มเห็ดโคน แต่ก็มีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งพันธุกรรมความหลากหลายของประเทศไทย
สำหรับผู้เขียนยังไม่เคยลองชิมเห็ดตาโล่ที่ได้มาครั้งนี้ เนื่องจากช่วงนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องเห็ดชนิดนี้ดีนัก แต่ถ้ามีโอกาสจะลองชิมสักครั้งว่ารสชาติเป็นอย่างไร
อรรถพล รุกขพันธ์
นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ
ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ
แหล่งข้อมูลสืบค้น
http://www.kingdomoffungi.com
http://www.mushroomexpert.com
http://www.ncbi.nlm.uih.gov
http://www.wikipedia.com
มาสังเกตุว่าเห็ดตาโล่ไม่เน่าเหม็นค่ะ สันนิฐานว่าแบททีเรัยไม่ทำปฏิกิริยาค่ะเพราะเห็ดส่วนมากจะเน่าเร็วมาก น่าจะมีสารสำคัญค่ะ วิจัยต่อได้ไหมคะ เพราะหนูเป็นหมอจิตสัมผัส ปู่ฤษีบอกส่ามารถรักษาโรคได้ คิดอีกแง่น่าจะรักษาโควิทได้ค่ะ คิดเล่นๆ นะ อาจเป็นจริงก็ได้ใครจะไปรู้
ตอบลบเป็นไปไไม่ได้หรอกค่ะเห็ดจะมารักษาเชื้อไวรัส ฮัลโหลไวรัสนะคะ ไม่ใช่ร้อนใน ไรรัวต้องยาปฏิชีวนะเท่านั้น วัคซีนเท่านั้น ขนาดวัคซีนแพงแค่ใหน ดีแค่ใหน ยังรักษาไม่ได้เลย สิมาหมเจิตสัมผัสหยังคะหญิง เซา
ลบไม่มีอะไรแน่นอนหรอกครับ ไครจะไปรู้
ลบ